Thai Passport

Thai Passport

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 ต.ค. 2567

| 96,965 view

หนังสือเดินทางไทย (เอกสารเดินทางฉุกเฉิน - ดูข้อ 8)

***การเข้ารับบริการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องนัดหมายล่วงหน้าตามช่องทางที่กำหนดเท่านั้น***

หนังสือเดินทางไทยเป็นหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 โดยหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลทั่วไป (ordinary passport) มี 2 ประเภท คือ 

  • หนังสือเดินทาง อายุ 5 ปี
  • หนังสือเดินทาง อายุ 10 ปี (เฉพาะผู้บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น)

ปัจจุบัน ไม่มีการต่ออายุหนังสือเดินทางไทย หากหมดอายุ จะต้องทำเล่มใหม่เท่านั้น

ในการทำหนังสือเดินทางไทย จะต้องเดินทางมาด้วยตนเองเพื่อถ่ายภาพ เก็บข้อมูลลายนิ้วมือ ม่านตา และลายมือชื่อ

1. การขอหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลทั่วไป

1.1 บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)

  • (1) บัตรประจำตัวประชาชนไทย
  • (2) หนังสือเดินทางไทยเล่มเดิม
  • (3) หลักฐานบัตรประจำตัวสำหรับผู้มีถิ่นพำนักในเนเธอร์แลนด์หรือหนังสือเดินทางเนเธอร์แลนด์ หรือ หลักฐานแสดงการมีถิ่นพำนักในเนเธอร์แลนด์

1.2 บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)

  • (1) สูติบัตรไทยหรือสําเนาสูติบัตรที่ทางราชการรับรองสําหรับผู้อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องมีบัตรประจําตัวประชาชน หรือบัตรประจําตัวประชาชนไทยสําหรับผู้มีอายุอยู่ในเกณฑ์ต้องมีบัตรประจําตัวประชาชน
    • หากเด็กเกิดในเนเธอร์แลนด์และยังไม่มีสูติบัตรไทย โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อแจ้งการเกิดและขอสูติบัตรไทยก่อน
  • (2) หนังสือเดินทางไทยเล่มเดิม (ในกรณีที่เคยมีหนังสือเดินทางไทยแล้ว)
  • (3) สำเนาทะเบียนบ้านในประเทศไทย
    • กรณียังไม่เคยมีหนังสือเดินทางไทย - ให้นำสำเนาทะเบียนบ้านในประเทศไทยมาด้วย (หากมี) 
    • กรณีเคยมีหนังสือเดินทางไทยแล้ว - ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านในประเทศไทยมาด้วย เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่า มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักแล้ว ยกเว้น กรณีที่ได้รับหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักแล้วตั้งแต่ตอนจดทะเบียนเกิด สามารถใช้สูติบัตรแทนได้
  • (4) ให้บิดาและมารดา หรือผู้มีอํานาจปกครองมาแสดงตนพร้อมผู้ร้องขอ เพื่อร่วมลงนามในสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายสําหรับผู้จะเดินทางไปต่างประเทศในแบบคําร้อง
  • (5) บิดาและมารดา หรือผู้มีอํานาจปกครองตามข้อ (4) ต้องแสดงบัตรประจําตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง และหลักฐานแสดงความเกี่ยวพันและการมีอํานาจปกครองผู้ร้องต่อเจ้าพนักงาน เช่น สูติบัตร คำสั่งศาล ฯลฯ
  • (6) กรณีที่บิดาหรือมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองตามข้อ (4) มาแสดงตนพร้อมผู้ร้องขอไม่ได้ ให้ผู้ที่ไม่มาทําหนังสือแสดงความยินยอมตามเงื่อนไขและแบบวิธีที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยกำหนด
    • กรณีบิดาหรือมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองอยู่ในประเทศไทย สามารถลงนามให้ความยินยอมได้ที่ กองหนังสือเดินทางกรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ หรือติดต่อทำหนังสือยินยอมได้ที่อำเภอ/เขต
    • กรณีบิดาหรือมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองอยู่ในประเทศอื่น ให้ติดต่อทำหนังสือยินยอมได้ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย/สถานกงสุลไทยในประเทศที่บิดา มารดาหรือผู้มีอำนาจปกครองพำนักอยู่
  • (7) หากชื่อนามสกุลบิดา และ/หรือ มารดาในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่มารดาหย่า และจดทะเบียนสมรสใหม่และใช้นามสกุลใหม่ตามสามี ให้นำหลักฐานการหย่า(ใบสำคัญการหย่า) และการสมรส (ใบสำคัญการสมรส) ที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย
  • (8) เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรอง บุตรหรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดา หรือมารดา มรณบัตร (กรณีบิดา/มารดาเสียชีวิต) เป็นต้น ทั้งนี้ หากเป็นเอกสารของต่างประเทศต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ (Ministrie van Buitenlandse Zaken) ก่อนนำมาแสดง
  • (9) ในกรณีเหล่านี้ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางของผู้มีอำนาจปกครองนั้นมาแสดง
    • บิดาและมารดาผู้เยาว์เสียชีวิต 
    • บิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติ และมิได้จดทะเบียนสมรสกัน และไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้
    • บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ 
  • (10) บิดามารดาผู้ให้กำเนิดผู้เยาว์ที่ได้ยกผู้เยาว์ให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่นแล้ว ไม่สามารถลงนามแทนบิดามารดาบุญธรรมได้ ต้องให้บิดาและมารดาบุญธรรมเป็นผู้ลงนาม

2. ค่าธรรมเนียม (ชำระด้วยวิธีการ PINNEN เท่านั้น ไม่รับเงินสดและไม่รับบัตรเครดิต)

- หนังสือเดินทางสำหรับบุคคลธรรมดา อายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 35 ยูโร
- หนังสือเดินทางสำหรับบุคคลธรรมดา อายุ 10 ปี ค่าธรรมเนียม 50 ยูโร

3. ระยะเวลาในการดำเนินการ

สามารถยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางได้ ณ ที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในวันราชการ โดยนัดหมายออนไลน์ล่วงหน้า 

  • เมื่อเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้บันทึกข้อมูลของท่านแล้ว จะดำเนินการส่งข้อมูลของท่านไปที่กระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ เพื่อผลิตเล่ม จากนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะส่งหนังสือเดินทางของท่านกลับมาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เจ้าหน้าที่จะได้ติดต่อท่านให้มารับเล่มต่อไป รวมระยะเวลานับจากวันที่บันทึกคำร้องจนถึงวันรับเล่มประมาณ 4 สัปดาห์
  • ท่านสามารถขอให้สถานเอกอัครราชทูตจัดส่งหนังสือเดินทางให้ทางไปรษณีย์ได้ (เฉพาะในประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้น) โดยแสดงความจำนงเมื่อยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทาง โดยท่านจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดส่งทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนเอง และเตรียมซองสำหรับส่งกลับมาเอง โดยจ่าหน้าซอง (ชื่อ และ ที่อยู่) ถึงตนเอง และต้องติดแสตมป์ จำนวน 10 ดวง (เฉพาะแสตมป์แบบดวงตราเท่านั้น ไม่สามารถใช้แสตมป์อิเล็กทรอนิคส์หรือแบบบาร์โค้ดได้) ให้เรียบร้อย ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับผิดชอบต่อการสูญหาย และคุณจะต้องรับผิดชอบติดตามหนังสือเดินทางกับ Post NL ด้วยตนเอง โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ จะส่ง tracking number ให้กับคุณหากเกิดปัญหาไม่ได้รับหนังสือเดินทาง
ทำนัดหมายออนไลน์

 

4. หมายเหตุ

Ø กรณีหนังสือเดินทางสูญหาย กรุณาดำเนินการตามข้อ 7. ด้วย

Ø กรณีผู้ขอหนังสือเดินทางมีชื่อในทะเบียนบ้านที่ประเทศไทย แล้วถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านไปอยู่ทะเบียนบ้านกลาง จะไม่สามารถขอหนังสือเดินทางได้ จนกว่าผู้ขอหนังสือเดินทางจะไปดำเนินการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านที่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

Ø ข้อมูลส่วนตัวในหนังสือเดินทางจะอ้างอิงตามข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ของผู้ขอหนังสือเดินทางที่ประเทศไทย ดังนั้น ชื่อ - สกุลในหนังสือเดินทางเล่มใหม่จะตรงกับหลักฐานทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน โดยจะไม่ขึ้นอยู่กับหนังสือเดินทางเล่มเดิม

Ø หากผู้ยื่นคำร้องต้องการให้นามสกุลในหนังสือเดินทางเป็นนามสกุลหลังการสมรส/หย่า จะต้องแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ก่อนที่จะขอทำหนังสือเดินทาง

 

5. การทำเอกสารเพื่อให้บุตรที่อยู่ที่ประเทศไทยใช้ประกอบการขอทำหนังสือเดินทางไทย (งานรับรองเอกสารและนิติกรณ์)

กรณีที่บิดาและ/หรือมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองไม่สามารถเดินทางไปประเทศไทยเพื่อดำเนินการขอหนังสือเดินทางให้กับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่อยู่ในประเทศไทย สามารถยื่นคำร้อง เพื่อจัดทำหนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีที่ทั้งบิดาและมารดาไม่สามารถพาบุตรที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ไปทำหนังสือเดินทางได้)ให้ผู้อื่นพาบุตรของตนไปดำเนินการแทน และทำหนังสือให้ความยินยอมสำหรับการทำหนังสือเดินทางไทยให้กับบุตร (เฉพาะบิดาและ/หรือมารดาที่ไม่สามารถเดินทางไปได้ด้วยตนเอง) โดยมายื่นเรื่องด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมหลักฐาน ดังนี้

  • (1) แบบฟอร์มที่กรอกเรียบร้อยแล้ว โดยยังไม่ต้องลงลายมือชื่อ
  • (2) หนังสือเดินทางไทย พร้อมสำเนา กรณีไม่มีสัญชาติไทย ให้นำหนังสือเดินทางชาติของตนมาพร้อมสำเนา
  • (3) บัตรประจำตัวประชาชนไทย พร้อมสำเนา (เฉพาะกรณีคนไทย)
  • (4) ทะเบียนสมรส (ของไทยหรือเนเธอร์แลนด์แล้วแต่กรณี) หรือทะเบียนหย่า หรือหนังสือปกครองบุตร (ป.ค. 14)
  • (5) สูติบัตรไทยของบุตร หรือสำเนา
  • (6) หากชื่อนามสกุลบิดาหรือมารดา (แล้วแต่กรณี) ในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดง
  • (7) ค่าธรรมเนียม เอกสารละ 15 ยูโร
  • (8) ระยะเวลาในการดำเนินการ - สามารถยื่นคำร้องได้ ณ ที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในวันราชการ โดยนัดหมายออนไลน์ล่วงหน้า <<คลิก 

เมื่อท่านได้รับเอกสารแล้ว ขอให้ส่งให้ญาติที่ประเทศไทย เพื่อใช้ประกอบในการขอหนังสือเดินทางที่กรมการกงสุลหรือสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวทั่วประเทศต่อไป

 

6. การบันทึกแก้ไขหนังสือเดินทาง (Endorsement) (เฉพาะหนังสือเดินทางไทยรุ่น AB หรือก่อนหน้า)

หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อ – นามสกุล หรือข้อมูลบุคคลได้ เนื่องจากตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) การเขียนข้อมูลในไมโครชิพทำได้เพียงครั้งเดียวและไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี ผู้ร้องสามารถบันทึกแก้ไขในเล่มหนังสือเดินทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่จัดเก็บในไมโครชิพได้ 2 กรณี ดังนี้

  • (1) การเปลี่ยนแปลงลายเซ็น
  • (2) การบันทึกรับรองการถือหนังสือเดินทางเล่มเดิม (แทนการผนวกเล่ม) เนื่องจากเล่มเดิมมีวีซ่าที่ยังมีอายุใช้งาน

ค่าธรรมเนียม - รายการละ 5 ยูโร

เฉพาะกรณีนี้ กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ โทร 0703450766

 

7. กรณีหนังสือเดินทางสูญหาย

ต้องแจ้งความหนังสือเดินทางสูญหายที่สถานีตำรวจ และนำใบรับแจ้งความดังกล่าวนั้นพร้อมเอกสารแสดงการมีสัญชาติไทยของตนหรือเอกสารทะเบียนราษฎรที่มีอยู่ เช่น สำเนาหนังสือเดินทางสูญหาย บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ มาติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วยตนเอง เพื่อขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ โดยนัดหมายออนไลน์ล่วงหน้า <<คลิก

 

8. เอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document - ETD)

ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือเดินทางสูญหายหรือหนังสือเดินทางหมดอายุ และต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการเร่งด่วน ไม่สามารถรอรับหนังสือเดินทางได้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะออกเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document) สำหรับใช้เดินทางกลับประเทศไทยเท่านั้น

  • กรณีหนังสือเดินทางสูญหาย (ถูกขโมย หาย หาไม่พบ) - เตรียมเอกสารเช่นเดียวกับในข้อ 7 และติดต่อนัดหมายกับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อทำ ETD
  • กรณีหนังสือเดินทางหมดอายุ (ยังมีหนังสือเดินทางเล่มเดิมอยู่) - เตรียมบัตรประชาชนไทย และติดต่อนัดหมายกับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อทำ ETD

เฉพาะกรณีนี้ กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ โทร 0703450766

***การเข้ารับบริการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องนัดหมายล่วงหน้าตามช่องทางที่กำหนดเท่านั้น***

หากมีข้อสงสัย กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่

  • โทร. 0703450766
  • อีเมล [email protected]
  • Facebook: Royal Thai Embassy The Hague (ทาง inbox)